วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

เบญจภาคี สุดยอดของพระเครื่องไทย


พระซุ้มกอ พระนางพญา พระสมเด็จ พระรอด พระผงสุพรรณ
พระเครื่องประเภทมหสนิยมที่พุทธศาสนิกชนไทย เคารพสูงสุดและมักนำติดตัวไปในที่ต่างๆ เพื่อให้คุ้มกัน และคุ้มครองตน 5 ชนิดคือ
1. พระสมเด็จพุฒาจารย์(โต) หรือ พระสมเด็จฯ
2. พระนางพญา
3. พระรอด
4. พระกำแพงทุ่งเศรษฐี หรือ พระซุ้มกอ
5. พระผงสุพรรณ
พระเครื่องทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวมานี้รวมเรียกว่า "องค์เบญจภาคีแห่งพระเครื่อง" โดยที่มี
พระสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นองค์ประธาน ทรงคุณวิเศษทางมหานิยมและมหิทฤทธิ์ สร้างในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์
พระนางพญา เป็นองค์ประกอบภาคขวาอันดับแรก ทรงคุณวิเศษคล้ายกับพระสมเด็จฯ แต่หนักไปในทาง มหิทฤทธิ์ มากกว่าพระสมเด็จฯ เล็กน้อย สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยา
พระรอด เป็นองค์ประกอบภาคซ้ายอันดับแรก ทรงคุณวิเศษทางมหิทฤทธิ์ แคล้วคลาด และมหานิยม สร้างในสมัยศรีวิชัย
พระกำแพงทุ่งเศรษฐีหรือพระซุ้มกอ เป็นองค์ประกอบภาคขวาอันดับรอง ทรงคุณวิเศษทางเกื้อกูล ลาภยศเงินทอง คงกระพัน และมหานิยมสร้างในสมัยสุโขทัย
พระผงสุพรรณ เป็นองค์ประกอบภาคซ้ายอันดับสอง ทรงคุณวิเศษทางหลักทรัพย์ เป็นสื่อทางโชคลาภ และหนักไปทางคงกระพันแคล้วคลาด มากกว่าพระกำแพงทุ่งเศรษฐี สร้างในสมัยอู่ทอง
สำหรับ พระสมเด็จพุฒาจารย์ พระนางพญา และพระรอดนั้น ได้รับการยกย่องว่าเป็น "องค์ไตรภาคีแห่งพระเครื่อง" โดยมีพระสมเด็จพุฒาจารย์ เป็นองค์ประธานเช่นเดียวกันกับ องค์เบญจภาคีแห่งพระเครื่อง
พระสมเด็จฯ
พระสมเด็จฯ พระพุฒาจารย์ มักถูกขนานนามว่า "จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง" สร้างขึ้นโดยสมเด็จพุฒาจารย์(โต) แห่งวัดระฆังโฆสิตาราม จังหวัดธนบุรี เป็นครั้งแรกเมื่อราว พ.ศ.2409 และถัดมาอีก 1-2 รุ่น ก่อนถึงมรณภาพ (พ.ศ.2415) นับเป็นพระพิมพ์หรือพระเครื่องรางยุครัตนโกสินทร์ อายุเพียง 130 ปีเศษ แต่เป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมเคารพนับถือ จากมหาชนมากกว่าพระเครื่ององค์ใดๆ ทั้งยังถูกยกย่องให้เป็น พระประธานทั้งใน องค์ไตรภาคี และ ในองค์เบญจภาคี แห่งพระเครื่องด้วย อาจเป็นด้วยพระสมเด็จฯ ทรงคุณวิเศษ ทั้งทางมหานิยม และมหิทฤทธิ์ จนเป็นที่ประจักษ์ แก่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่เคารพนับถือมามากต่อมาก
เหตุที่สมเด็จฯ จะสร้างพระพิมพ์สมเด็จฯ นี้ก็เพราะสมเด็จปรารภว่า พระมหาเถระในอดีต มักสร้างพระพิมพ์บรรจุ ไว้ในพุทธปูชนียสถานต่างๆ เพื่อเป็นการสืบต่ออายุ พุทธศาสนาให้ถาวรสืบไป ท่านจึงปรารถนาจะทำตามคตินั้นบ้าง จึงได้จัดทำพระพิมพ์ขึ้นเป็นจำนวนมาก

พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ทรงเจดีย์

พระสมเด็จบางขุนพรหม พิมพ์สังฆาฏิ ไม่มีหู

พระสมเด็จวัดเกศไชโย พิมพ์แขนกาง(นักเลงโต)
พระนางพญา
พระนางพญาหรือพระพิมพ์นางพญา ซึ่งนิยมกันว่าเป็น ราชินีแห่งพระเครื่อง เป็นพระเครื่องที่พบอยู่ในพระเจดีย์ และบริเวณวัดนางพญา จังหวัดพิษณุโลก จึงถูกขนานนามว่าพระนางพญา
สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. 2106 โดยสมเด็จพระวิสุทธิกษัตรี เป็นผู้ทรงสร้าง ในเวลาใกล้เคียงกันกับสร้างวัดนางพญา มีอายุถึงปัจจุบันประมาณ 420 ปีเป็นที่น่ายกย่องนับถือ ว่าทรงคุณวิเศษมากทั้งทาง มหิทฤทธิ์ และมหานิยม แม้จะมีชื่อพระเป็นทางกษัตรี แต่ก็ใช้คุ้มครองได้ทั้ง หญิง และชาย หาได้มีคุณวิเศษและใช้ได้เฉพาะสตรี ตามที่ท่านเข้าใจไม่

พระนางพญา พิมพ์อกนูนใหญ่

พระนางพญา พิมพ์สังฆาฏิ
พระรอด
พระรอดเป็นพระเครื่องราง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้พระสมเด็จฯ และพระนางพญา ได้ถูกขนานนามว่าเป็น" เทวีแห่งนิรันตราย " ทั้งได้แสดงคุณวิเศษ ทางแคล้วคลาด เป็นที่ประจักษ์มาแล้วมากมาย ตามตำนานกล่าวว่า "พระนารทฤาษี" เป็นผู้สร้างพระพิมพ์นี้ขึ้น จึงเรียกพระพิมพ์นี้ว่า "พระนารท" หรือ "พระนารอด" ครั้นต่อมานานเข้า มีผู้เรียกและผู้เขียนเพี้ยนไปเป็น "พระรอท" และในที่สุด ก็เป็น พระรอด อีกทั้งเหมาะกับภาษาไทยที่แปลว่า รอดพ้น จึงนิยมเรียกพระพิมพ์เครื่องรางชนิดนี้ว่า พระรอด เรื่อยมาโดย ไม่มีผู้ใดขัดแย้ง
พระรอดพบในอุโมงค์ใต้เจดีย์ใหญ่ วัดมหาวัน หรือ ที่เรียกว่า มหาวนาราม ณ จังหวัดลำพูน ซึ่งปรากฏ อยู่ถึงจนปัจจุบันนี้ อนึ่งวัดมหาวัน เป็นวัดโบราณของมอญลานนา ในยุค ทวาราวดี ขณะที่พระเจ้าเมงรายยกทัพ มาขับไล่พวกมอญออกไปราว พ.ศ.1740 นั้นก็พบว่า วัดนี้เป็นโบราณสถาน อยู่ก่อนแล้ว ฉะนั้นจึงไม่น่ามีปัญหาใดเลยว่า พระรอดนี้ควรมีอายุ เกินกว่า พันปีเป็นแน่ แต่เพิ่งมาพบ เมื่อประมาณ 50 ปีมานี่เอง

พระรอดมหาวัน พิมพ์กลาง

พระรอดมหาวันพิมพ์ใหญ่
พระซุ้มกอ

พระซุ้มกอ พิมพ์ใหญ่ มีกนก กรุวัดพิกุล กำแพงเพชร

พระซุ้มกอดำ กำแพงเพชร
พระซุ้มกอ และพระกำแพงของทุ่งเศรษฐี ถูกขนานนามว่า "มหัธนากรแห่งพระเครื่อง" เป็นพระพิมพ์เครื่องราง ที่พบบรรจุอยู่ใน กรุววัดพระบรมธาตุ กรุวัดพิกุล กรุบ้านไร่ และกรุทุ่งเศรษฐี บริเวณฝั่งซ้าย(ตะวันตก) ของลำน้ำปิง หรือที่เรียกว่า ฝั่งนครชุม ซึ่งแต่เดิมเป็นที่ตั้ง ของเมืองเก่าแก่เมืองหนึ่ง มีโบราณวัตถุ มากอยู่ในจังหวัดกำแพงเพชร เนื่องจากพระเครื่องที่บรรจุอยู่ในพระเจดีย์กลาง ทุ่งเศรษฐี มีลักษณะงดงามกว่ากรุอื่น อีกทั้งกรุพระสี่แห่งนี้ อยู่ในบริเวณทุ่งเศรษฐีด้วยกัน จึงนิยมเรียกขานชื่อพระเครื่อง ที่บรรจุอยู่ในเจดีย์ฝั่งนครชุม ทั้งหมดว่า พระกำแพงเขย่งทุ่งเศรษฐี ซึ่งมีหลายแบบหลายชนิด ล้วนทรงคุณวิเศษ ทั้งทางลาภ ยศ เงินทอง มหานิยม และอยู่ยงคงกระพัน ทั้งนั้น เป็นพระเครื่องฝีมือช่างสมัยสุโขทัย สรางราว พ.ศ. 1900 และพบครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. 2392 คือ ประมาณ 148 ปี มานี่เอง

พระซุ้มกอ พิมพ์กลาง กำแพงเพชร

พระซุ้มกอ พิมพ์ขนมเปี๊ยะ
พระผงสุพรรณ
พระผงสุพรรณ เป็นพระเครื่องชั้นเยี่ยม ของจังหวัดสุพรรณบุรี และเป็นพระเครื่องรางองค์สุดท้ายขององค์เบญจภาคี การที่ถูกเรียกว่า พระผงสุพรรณ นั้นก็โดยที่ นำคำว่าผง และสุพรรณมารวมกันเข้า ผงหมายถึงพระเครื่องประเภทเนื้อดินผสมว่านและผงเกสรดอกไม้ ส่วนคำว่าสุพรรณ หมายถึง จังหวัดสุพรรณบุรี อันเป็นเมืองที่สร้างพระเครื่อง ประเภทนี้ คำว่าพระผงสุพรรณ จึงได้ความว่า พระเครื่องประเภทเนื้อผงของจังหวัดสุพรรณบุรี

พระผงสุพรรณ พิมพ์กลาง

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าแก่

พระผงสุพรรณ พิมพ์หน้าหนุ่ม
นอกจากนั้นยังมีความหมายไกลออกไปอีกคือ หมายถึงผงทอง ซึ่งตรงกับคุณวิเศษ ของพระเครื่องชนิดนี้ด้วย เพราะช่วยเกื้อกูลในลาภผลเงินทอง จึงได้รับนามว่า "กาญจนาภรแห่งพระเครื่อง" พระผงสุพรรณนี้เป็นฝีมือช่าง สมัยอู่ทองยุคหลังหรือสมัยศรีอยุธยาตอนต้น ปรากฏอยู่ในกรุวัดพระมหาธาตุ จังหวัดสุพรรณบุรี แต่ พ.ศ.1886 และกรุดอนเจดีย์ แต่ พ.ศ. 2135
ที่มา : http://www.amulet2u.com/ben01.htm

ไม่มีความคิดเห็น: