วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

พระเครื่องเบญจภาคี ชุด พระสมเด็จวัดระฆัง

พระเครื่องเบญจภาคี

ประวัติการสร้าง พระสมเด็จวัดระฆัง สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

การ สร้างพระเครื่องไว้เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนานั้น ได้มีมาตั้งแต่สมัยทวารวดี ราวปีพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ ต่อมาท่านโบราณจารย์ผู้เชี่ยวชาญฉลาดได้ประดิษฐ์คิดสร้างพระเครื่อง ด้วยรูปแบบต่างๆนานาตามแต่จะเห็นว่างาม นอกจากนั้นแล้งยังได้บรรจุพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ตลอดจนพระปริตรและหัวใจพระพุทธมนต์อีกมากมายหลายแบบด้วยกัน และการสร้างพระเครื่องนั้น นิยมสร้างให้มีจำนวนครบ ๘๔,๐๐๐ องค์ ตามจำนวนพระธรรมขันธ์อีกด้วย
ดังนั้น ในชมพูทวีปและแม้แต่ประเทศไทยเราเอง ปรากฏว่ามีพระเครื่องอย่างมากมาย เพราะท่านพุทธศาสนิกชนได้สร้างสืบต่อกันมาทุกยุคทุกสมัย และในบรรดาพระเครื่องจำนวนมากด้วยกันแล้ว ท่านยกย่องให้พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี ซึ่งสร้างโดยท่านเจ้าประคุณพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) เป็นยอดแห่งพระเครื่อง และได้รับถวายสมญานามว่าเป็น ราชาแห่งพระเครื่อง อีกด้วย
ปฐมเหตุซึ่งพระสมเด็จของท่านเจ้าประคุณสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามได้รับการ ยกย่องเช่นนั้น อาจจะเป็นด้วยรูปแบบของพระสมเด็จเป็นพระเครื่ององค์แรกซึ่งสร้างเป็น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างทรงเลขาคณิต ส่วนองค์พระและฐานนั้นเล่า ท่านได้จำลองแบบและย่อมาจากองค์พระประธานจากพระอุโบสถเพียงองค์เดียวเท่า นั้น ปราศจากอัครสาวกซ้ายขวาองค์พระจึงดูโดดเด่นอย่างเป็นเอกรงค์ สำหรับซุ้มเรือนแก้วอันเป็นปริมณฑลนั้นเล่า ท่านได้จำลองแบบอย่างมาจากครอบแก้ว (ครอบแก้วพระพุทธรูป) และถึงจะเป็นรูปแบบอย่างง่ายๆปราศจากส่วนตกแต่งแต่อย่างใดเลยก็ตามทีต้อง ยอมรับว่าเป็นความงามที่ลงตัวอย่างหาที่ติมิได้เลย
นอกจากรูปแบบอันงดงามของพระสมเด็จดังกล่าวแล้ว ศรัทธาและความเลื่อมใสของนักสะสมพระเครื่องอันเป็นทุนเดิมอยู่แล้วคง จะมาจากคุณวิเศษอันเป็นมหัศจรรย์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) ผู้ประติมากรรมพระสมเด็จเป็นอันดับสอง ซึ่งมีผู้กล่าวเล่ากันฟังอย่างน่าศรัทธาในความเป็นปราชญ์ของท่าน ดังสดับรับฟังมาขอถ่ายทอดสู่ท่านผู้อ่านดังนี้

พระสมเด็จวัดระฆัง

ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี )
วัดระฆังโฆสิตาราม ผู้เป็นอมตเถระ
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) วัดระฆังโฆสิตาราม บางกอกน้อย ธนบุรี นามเดิมว่า โต ได้รับฉายา พฺรหฺมรํสี ถือกำเนิดตอนเช้าตรู่ ของวันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๓๑ จุลศักราช ๑๑๕๐ ในรัชกาลที่ ๑ บ้านไก่จ้น ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มารดาชื่อ เกศ เป็นชาวบ้าน ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ในขณะที่ท่านยังเป็นเด็กนอนแบเบาะอยู่นั้น มารดาได้ย้ายภูมิลำเนามาอยู่ที่ตำบลไชโย จังหวัดอ่างทอง แต่พอท่านจำเริญวัยพอนั่งยืนได้ มารดาได้ย้ายมาอยู่ที่ตำบลบางขุนพรหม จังหวัดพระนคร เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งสถาน ที่ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับประวัติชีวิตของท่านนั้น ท่านจึงได้สร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ไว้หลายองค์ เช่น สร้างพระพุทธไสยาสน์ ที่วัดสะตือ ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับวัดไก่จ้น ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สร้าง พระมหาพุทธพิมพ์ ที่วัดไชยโย อำเภอไชยโย จังหวัดอ่างทอง และสร้างพระศรีอาริยเมตไตรย ไว้ที่วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม กรุงเทพฯ เป็นต้น
สมัยเมื่อท่านยังเป็นเด็ก ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้เรียนหนังสือในสำนักของท่านเจ้าคุณอรัญญิก (ด้วง) วัดอินทรวิหาร เดิมชื่อว่าวัดบางขุนพรหมนอก ส่วนวัดบางขุนพรหมในก็คือวัดบางขุนพรหมในปัจจุบันนี้ พออายุได้ ๑๒ ขวบ ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้ย้ายมาอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี
เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้เข้ามาศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรม ณ วัดระฆังโฆสิตารามแล้ว ปรากฏว่า การศึกษาของท่านได้รับการชมเชยจากพระอาจารย์อยู่เสมอว่า ความจำความเฉียวฉลาด ปราดเปรื่อง ปฏิภาณไหวพริบของท่านนั้นเป็นเลิศหาผู้ใดเสมอเหมือนได้ยาก ท่านเรียนรู้พระปริยัติธรรม ได้อย่างที่เรียกว่า รู้แจ้งแทงตลอด นอกจากท่านจะได้ ศึกษาในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (นาค) วัดระฆังโฆสิตารามแล้ว ท่านยังได้ไปฝากตัวศึกษา ทางด้านปริยัติและด้านปฏิบัติกับสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน ณวัดมหาธาตุ
นอกจากทางด้านปริยัติท่านจะได้ศึกษาอย่างรู้แจ้งรู้จบแล้ว ท่านยังได้หันไปศึกษา ทางด้านปฏิบัติ เพื่อความหลุดพ้นจากวัฏสงสารกับสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน อาจารย์รูปหนึ่งทางด้านปริยัติธรรมของท่าน ซึ่งในขณะนั้นท่านก็มีชื่อเสียงโด่งดังทางปฏิบัติอยู่ก่อนแล้ว อาจารย์ทางด้านวิปัสสนาธุระของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯนอกจากสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ไก่เถื่อน แล้งก็มีเจ้าคุณอรัญญิก วัดอินทรวิหาร บางขุนพรหม โดยเฉพาะสมณศักดิ์อรัญญิก ซึ่งแปลว่าป่า ย่อมจะเป็นที่แจ้งชัดแล้วว่าท่านเป็นผู้ชำนาญทางปฏิบัติ เพราะตำแหน่งนี้ เป็นตำแหน่งของด้านวิปัสสนาธุระอยู่แล้ว ยังมีเจ้าคุณบวรวิริยเถร วัดสังเวชวิศยาราม บางลำพู และท่านอาจารย์แสง วัดมณีชลขันธ์ ลพบุรี ผู้โด่งดังทางด้านปฏิบัติและเก่งกล้าทางพุทธาคมอีกด้วย โดยที่สามเณรโต ท่านเป็นผู้มักน้อย สันโดษ และไม่มีความทะเยอทะยานในลาภยศสรรเสริญ ทั้งๆที่ท่านเป็นผู้ที่เรียนรู้ในพระปริยัติธรรมและมีความเชี่ยวชาญถ่องแท้ ในพระไตรปิฎกเป็นอย่างดี แต่สามเณรโตท่านก็หาได้เข้าสอบเป็นเปรียญไม่
นอกจากท่านจะมีความเชี่ยวชาญในด้านปริยัติธรรมดังกล่าวแล้ว ท่านยังมีความสามารถในการเทศน์ได้ไพเราะและมีความคมคายที่จับจิตจับใจท่าน ผู้ฝังมาแต่ครั้งท่านเป็นสามเณรอยู่ก่อนแล้วเรื่องนี้เป็นที่เล่าลือขจร ขจายไปทั่วทิศและด้วยเหตุสามเณรโตเป็นนักเทศน์ เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.๒) ตั้งแต่ครั้งยังทรงเป็นเจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงโปรดปราณเป็นอย่างมาก ถึงกับพระราชทานเรือกัญญาหลังคากระแชงไว้ให้ใช้ และทรงรับไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์อีกด้วย
ส่วนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงพระเมตตาสามเณรโตไม่น้อยเหมือนกัน ทรงโปรดให้สามเณรโตเป็นนาคหลวงและอุปสมบทในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ด้วย
ในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะทรงแต่งตั้งในท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ให้เป็นพระราชาคณะ แต่ทว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้ทูลขอตัวเสีย ด้วยเหตุที่กลัวพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจะพระราชทานสมณศักดิ์ ให้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงได้ถือธุดงควัตรไปตามจังหวัดที่ห่างไกลเป็นการเร้นตัวไปในที
สืบต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔) โปรดเกล้าฯพระราชทานสมณศักดิ์ในคราวนี้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯไม่ขัดพระราช ประสงค์ อาจจะเป็นด้วยท่านชราภาพลงมากคงจะจาริกไปในที่ห่างไกลไม่ไหวแล้ว เพราะตอนที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร.๔) พระราชทานสมณศักดิ์เป็นที่พระธรรมกิติ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๕ นั้นท่านมีอายุได้ ๖๕ ปีเข้าไปแล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นพระองค์ท่านได้ทรงผนวชมาแต่พระชนมา ยุได้ ๒๑ พรรษา และได้ทรงศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ ณ วัดราชาธิวาส จนจบสิ้นตำรับตำรา ทรงมีความรอบรู้อย่างแท้ จนไม่มีครูบาอาจารย์รูปอื่นใดจะสามารถอธิบายให้กว้างขวางต่อไปได้อีก จึงได้ทรงระงับการศึกษาทางด้านวิปัสสนาธุระไว้เพียงนั้น พอออกพรรษาก็เสด็จมาประทับ ณ วัดมหาธาตุก็ทรงหันมาศึกษาทางฝ่ายปริยัติธรรม โดยได้เริ่มศึกษาภาษาบาลีเพื่ออ่านและแปลพระไตรปิฎก ทรงค้นคว้าหาความรู้โดยลำพังพระองค์เอง ทรงขะมักเขม้นศึกษาอยู่ (๒) ปี ก็รอบรู้ภาษาบาลีอย่างกว้างขวาง ผิดกับผู้อื่นที่ไม่เคยศึกษามา
เมื่อกิตติศัพท์ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดเกล้าให้เสด็จฯเข้าแปลพระปริยัติธรรมถวายตามหลักสูตรเปรียญในเวลา นั้นพระองค์ทรงแปลอยู่ ๓ วัน ก็ปรากฏว่าแปลได้หมดจนจบชั้นเปรียญเอก จึงพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก ๙ ประโยคให้ ทรงถือเป็นสมณศักดิ์ต่อมา
ฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานสมณศักดิ์ให้ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงเข้าทำนองปราชญ์ย่อมเข้าใจ ปราชญ์
ด้วยเหตุฉะนี้กระมังพระองค์จึงโปรดและมีพระมหากรุณาธิคุณต่อท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต ) วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นพิเศษ บางโอกาสแม้ว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะแสดงข้ออรรถข้อธรรมอันลึกซึ้งที่ขัดพระทัยอยู่บ้างก็ทรงอภัยให้เสมอ มีเรื่องเล่าว่า เมื่อออกพรรษาเป็นเทศกาลทอดกฐินพระราชทาน พระองค์ทรงโปรดให้อารามหลวง ในเขตกรุงเทพมหานครจุดการตกแต่งเรือเพื่อการประกวดประชันในด้านความงามและ ความคิด

พระสมเด็จวัดระฆัง

เมื่อขบวนเรือประกวดล่องผ่านพระที่นั่งเป็นลำดับๆซึ่งล้วนแต่ตกแต่งด้วยพันธุ์บุปผานานาชนิดสวยงามยิ่งนัก
ครั้นมาถึงเรือประกวดของวัดระฆังโฆสิตารามเท่านั้น เป็นเรือจ้นเก่าๆลำหนึ่ง ที่หัวเรือมีธงสีเหลืองทำขึ้นจากจีวรพระ มีลิงผูกอยู่กับเสาธง ที่กลางเรือมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯนอนเอกเขนกอยู่เท่านั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรเห็นเท่านั้นก็เสด็จขึ้นทันที แล้วตรัสว่า ขรัวโตเขาไม่ยอมเล่นกับเรา แต่ก็ทรงทราบด้วยพระปรีชาว่า การที่ขรัวโตประพฤติเช่นนั้นทำเป็นปริศนาให้ทรงทราบว่า ความจริงแล้วพระสงฆ์องค์เจ้าอย่างท่านนั้นไม่ได้สะสมทรัพย์สินเงินทองแต่ อย่างใด มีเพียงอัฐบริขารเท่าที่จำเป็นเท่านั้น จะจัดหาสิ่งของเอามาตกแต่งเรือให้สวยงามได้อย่างไร คงมีแต่จีวรที่แต่งแต้มสีสันกับสัตว์เลี้ยงคือลิงที่มักแลลิ้นปลิ้นตา ดังวลีที่ว่าการกระทำเช่นนั้นความจริงแล้วมันเหมือนกับทำตัวเป็น ลิงหลอกเจ้า นั่นเองแต่พระองค์ก็ทรงอภัยโทษหาได้โกรธขึ้งไม่ การกระทำเช่นนั้น ถ้าเป็นบุคคลอื่นคงจะหัวขาดเป็นแน่
เรื่องอันน่าสนใจในพระเดชพระคุณเจ้ารูปนี้ยังมีที่น่าขำขันอีกมากมาย แต่ในเรื่องราวเหล่านั้นท่านได้สอดแทรกคติธรรม ปริศนาธรรมอย่างลึกซึ้งให้เราท่านได้ขบคิดและน่าจะได้ใคร่ครวญสืบต่อไป
ถึงแม้ว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) จะประพฤติปฏิบัติตามความพอใจของท่าน ไม่ถือความนิยมของผู้อื่น จึงมีเรื่องเล่าถึงการที่ท่านปฏิบัติแปลกๆมากมาย แม้แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร ๔) ก็ทรงพระเมตตา ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯอยู่เสมอมา เข้าทำนองนักปราชญ์ย่อมเข้าใจในการกระทำของนักปราชญ์ฉะนั้น ประการหนึ่ง และยิ่งกว่านั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นผู้ซึ่งมีความ เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระ คันถธุระ ขณะที่ทรงผนวชอยู่นั้นแล้ว ในวิชาโหราศาสตร์และดาราศาสตร์ก็เยี่ยมยอด
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (ร ๕) ทรงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ผู้ทรงศึกษาวิชาโหราศาสตร์อย่างเจนจัดเชี่ยวชาญ ผูกดวงชะตาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ที่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ผูกไว้ให้แก่สมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวงศ์วโรปการ ถือเป็นหลักในวิชาพยากรณ์
ดวงชะตาของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯมีดังนี้
อาทิตย์ เป็นศรี เป็นมหาอุจจ์กุมลลัคนาบรรลุความสำเร็จสูงสุดทั้งเกียรติยศ ชื่อเสียง เป็นผู้มีอารมณ์ขัน เพราะสมาสัปต์กับศุกร์
ลัคนา เกาะปัญจมะนวางค์ อาทิตย์ (ศรี) ทุติยตรียางคอาทิตย์ (ศรี) เสวยภรณีฤกษ์ที่ ๒ ประกอบด้วยมหัธโนแห่งฤกษ์
จะเป็นด้วยราหูเป็นอายุ เป็นมหาอุจจ์ และเพราะสมาสัปต์กับศุกร์ จึงทำให้เจ้าประคุณสมเด็จฯเป็นผู้มีอารมณ์ขันหรืออย่างไรก็เหลือเดา จึงมีเรื่องที่แสดงถึงความเป็นผู้มีอารมณ์ขันของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯอยู่ เสมอ
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตารามธนบุรี ท่านเป็นผู้ทรงคุณวิเศษหลากหลายประการด้วยกัน ดังได้กล่าวไปบ้างแล้วนั้น มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯกับหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหารบางขุนพรหม ท่านทั้งสองได้เดินผ่านพระเจดีย์องค์หนึ่ง ซึ่งช่างได้ทำการบูรณะโดยการโบกปูนปิดฐานพระเจดีย์ที่ชำรุดให้คงสภาพดี เหมือนเดิม บังเอิญภานในพระเจดีย์ที่โบกปูนปิดช่องลมที่ฐานพระเจดีย์นั้นมีคางคกสองตัว ติดอยู่หาทางออกไม่ได้ต่างดิ้นทุรนทุราย ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯท่านทราบด้วยตาทิพย์ ท่านจึงเอ่ยถามหลวงปู่ภูซึ่งท่านก็ได้ตาทิพย์เช่นกัน ท่านจึงตอบท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯไปว่า คางคกสองตัว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจึงให้หลวงปู่ภูเอาคางคกที่ติดอยู่ภายในฐานพระเจดีย์ ออกมาโดยการทุบตรงที่โบกปูนนั้น
จากพฤติกรรมดังกล่าวแล้วนั้น แสดงว่าทั้งท่านเจ้าประคุณสมเด็จและหลวงปู่ภู วัดอินทรวิหารผู้ซึ่งเป็นศิษย์ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯล้วนแต่ทรงคุณวิเศษ ทั้งคู่ นั่นย่อมหมายความว่า ท่านสำเร็จอภิญญา คือความรู้ยิ่งในพระพุทธศาสนา

พระสมเด็จ พระสมเด็จวัดระฆัง


ในบรรดาพระอาจารย์ผู้สำเร็จวิชาสตรโสฬสและทรงคุณวิเศษดังกล่าวแล้ว นั้นมีท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ รวมอยู่ด้วยรูปหนึ่ง ท่านจึงสามรถที่จะแสดงอิทธิฤทธิ์ตลอดจนคุณวิเศษต่างๆได้นานัปการนอกจากนั้น ท่านยังเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต บางครั้งบางโอกาสท่านอาจจะทำเป็นโง่แบบเถรตรงจนเกินไปก็มี
คราวหนึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เมล็ดพระศรีมหาโพธิ์มาจากพระพุทธคยาทรงเพาะขึ้นแล้วมีรับสั่งให้ส่งต้น พระศรีหาโพธิ์ที่เพาะขึ้นนั้นไปปลูกตามพระอารามหลวง เจ้าพนักงานได้มีใบบอกไปตามวัดต่างๆให้มารับไป เจ้าอาวาสทั้งหลายได้มารับเอาไปปลูก โดยเอาเรือจ้างบ้าง เรือถ่อบ้าง มารับเอาไป ส่วนท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯท่านไม่ยอมไปรับ กลับมีลิขิตตอบไปว่า ท่านไปรับไม่ได้เกรงจะเป็นการดูหมิ่นต่อเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน ควรบอกเจ้าหน้าที่นำเรือกัญญาไปรับต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วมีเรือตั้งนำเชิญไปพระราชทานตามวัด จึงจะสมควรแก่เกียรติยศ เจ้าหน้าที่ได้นำลิขิตของขรัวโต ขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณา ทรงทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วทรงกรุณาโปรดเกล้าฯว่า ถูกของท่าน พวกเจ้ามักง่าย
ด้วยเหตุนี้บรรดาวัดต่างๆที่รับต้นศรีมหาโพธิ์ไปแล้ง ต้องนำมาส่งคืน เจ้าพนักงานต้องเชิญต้นศรีมหาโพธิ์ลงเรือกัญญา มีเรือขบวนแห่ไปส่งตามพระอารามหลวงจนทั่วกัน
ด้วยภูมิอันฉลาดแหลมคม ตลอดจนความเป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต ซึ่งได้รับคำยกย่องว่าท่านเป็นเอตทัคคะรูปหนึ่งแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี ) อดีตท่านเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม ธนบุรี บางโอกาสท่านจึงได้แสดงพฤติกรรมบางอย่างบางประการออกไปในทางพิลึก พิเรนทร์ที่มนุษย์ปุถุชนคนธรรมดาๆเขาไม่นิยมกระทำกัน แต่ทว่าท่านกลับเป็นผู้กระทำเสียเอง แต่ถ้าดูกันอย่างผิวเผิน จักเห็นว่าท่านเป็นคนสติเฟื่องจึงกระทำเรื่องบ๊องๆ เช่นนั้น แต่ถ้าได้พิจารณากันอย่างถ่องแท้ให้ถึงซึ่งความเป็นจริงและเป็นสัจ ธรรมคำสอนตามพุทธธรรมในพุทธองค์แล้ว การกระทำของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านได้สอดแทรกแก่นแท้ของหลักธรรมเอาไว้ทั้งสิ้น อย่างเช่น ในกรณีที่พระลูกวัดของท่านสองรูปที่กำลังทะเลาะกันอย่างรุนแรงถึงขั้นจะลง มือลงไม้กันทีเดียว ถ้าท่านเป็นเจ้าอาวาสก็จะเข้าไปห้ามปรามนั้นเป็นเรื่องธรรมดาแต่ทว่าท่าน รีบขวนขวายหาดอกไม้ธูปเทียน แล้วรีบไปหาสองพระลูกวัดที่กำลังทะเลาะกันอยู่นั้น พร้อมกับก้มลงกราบ แล้วพูดว่า ท่านทั้งสองเก่งมาก อาตมากลัวแล้ว ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย

พระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูม พระสมเด็จพิมพ์ฐานแซม


พระภิกษุทั้งสองรูปเมื่อเห็นเป็นเช่นนั้นก็ต้องเลิกรากันในทันที แล้วรีบคุกเข่ากราบท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ และและแทนที่ท่านจะดุว่าพระทั้งสองแม้สักคำน้อยก็หาไม่ ท่านกลับว่า ที่ท่านทั้งสองทะเลาะเบาะแว้งกันนั้น เพราะอาตมาปกครองท่านไม่ดีต่างหาก หาได้เป็นความผิดของท่านทั้งสองไม่ ท่านเคยได้พบเห็นหรือท่านเคยได้ยินพฤติกรรมอย่างนี้มีที่ไหนบ้าง
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯท่านได้นำหลักธรรมคำสอนที่ว่าด้วย ชนะความโกรธด้วยความไม่โกรธ เวรระงับด้วยการไม่จองเวร ทำนองนี้
นอกจากท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯจะได้สร้างปูชนียวัตถุดังกล่าวแล้ว มีเรื่องเล่าว่า ครั้งเมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯขึ้นไปเยี่ยมญาติที่จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเป็นเมืองหน้าด่านทางทิศใต้ของกรุงสุโขทัย และเป็นเมืองที่ร่ำรวยด้วยโบราณวัตถุทางพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มีพระเครื่องซึ่งงดงามไปด้วยพุทธศิลปะอันบริสุทธิ์ ของชาวไทยเราอีกด้วยและโดยเฉพาะที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ท่านมีความรู้และแตกฉานทางอักษรโบราณ ท่านจึงสามารถอ่านศิลาจารึกที่ว่าด้วยกรรมวิธีการสร้างพระเครื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสร้างพระพิมพ์ด้วยเนื้อผงขาว ซึ่งต่อมาเรียกกันว่า เนื้อพระสมเด็จ โดยมีเนื้อหลักเป็นปูนขาว (ปูนหิน) หรือปูนเปลือกหอย ผสมผสานด้วยวัตถุมงคลอาถรรพณ์อื่นๆ และมีผงวิเศษซึ่งสำเร็จจากการลบสูตรสนธิ์จากคัมภีร์ทางพุทธาคม
เมื่อนำเอามาบดตำกรองจนดีแล้ว จึงนำเอาวัตถุมงคลและอาถรรพ์ต่างๆเหล่านั้นมาผสมผสานกับดินสอพอง (ดินขาว) แล้วปั้นเป็นแท่งตากให้แห้งแล้วจึงนำเอามาเขียนอักขระเลขยันต์ตาม คัมภีร์บังคับบนกระดานโหราศาสตร์ซึ่งทำจากต้นมะละกอ เสร็จแล้วจึงลบเอาผงมาสร้างเป็นพระสมเด็จ ที่เรียกว่าผงวิเศษ หรือผงพุทธคุณนั่นเอง
นอกจากนั้นแล้วยังสันนิษฐานกันว่า ท่านยังเอาข้าวก้นบาตรและอาหารหวานคาวที่ท่านฉันอยู่ถ้าคำไหนอร่อยท่านจะ ไม่ฉัน จะคายออกมาแล้วตากให้แห้งเพื่อนำไปบดตำสร้างพระสมเด็จของท่าน ซึ่งถูกต้องตามวิธีการสร้างพระอาหารของชาวรามัญ

พระสมเด็จพิมพ์เกศบัวตูม


ส่วนตัวประสานหรือตัวยึดเกาะนั้น ที่เราทราบๆกันอย่างเด่นชัดก็คือ น้ำมันตังอิ๊ว น้ำอ้อย น้ำผึ้ง กล้วย และที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เยื่อกระดาษ ได้จากการที่เอากระดาษฟางหรือกระดาษสามาแช่น้ำข้ามวันข้ามคืน จนกระดาษละลายเป็นเมือกดีแล้ว จึงนำเอามากรองเพื่อเอาเยื่อกระดาษมาผสมผสานบดตำลงไป เชื่อกันว่าตัวเยื่อกระดาษนี้เป็นตัวหนึ่งที่ทำให้พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตา รามมีความหนึกนุ่ม เนื้อจึงไม่แห้งและกระด้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส่วนผสมที่เป็นประเภทพืช เช่น ข้าว อาหาร กล้วย อ้อย เป็นต้น ก็มีส่วนที่ทำให้เนื้อพระมีความหนึกนุ่มอีกเช่นกัน
สำหรับในด้านแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามนั้น ถ้าได้พิจารณากันอย่างถ่องแท้แล้วจักเป็นรูปแบบที่เรียบง่าย คือเค้าโครงภายนอกเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทรงเลขาคณิต เป็นการออกแบบที่ทวนกระแสความคิดสร้างสรรค์ของคนโบราณอย่างสิ้นเชิง อาจจะพูดได้ว่าเป็นการออกแบบที่เป็นศิลปะของตนเองอย่างบริสุทธิ์ หาได้อยู่ภายใต้ของศิลปะพระเครื่องสกุลอื่นใดไม่ ทั้งๆที่การสร้างพระพิมพ์หรือพระเครื่องได้มีมาแต่ครั้งสมัยคันธารราษฎร์ (อินเดีย) มากกว่า ๒,๐๐๐ ปีล่วงมาแล้ว
ในด้านองค์พระคงจะได้แนวคิดและแบบอย่างมาจากพระประธานในพระอุโบสถ ซึ่งส่วนมากจักประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชี เฉพาะซุ้มเรือนแก้วนั้นคงจักได้แนวคิดมาจากครอบแก้ว ซึ่งเพิ่งจะมีครอบแก้วครอบพระบูชาประจำวัด ประจำบ้าน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ไม่ให้ผิวทองหมองประการหนึ่ง และเพื่อเป็นการป้องกันฝุ่นละอองที่มีคละคลุ้งในอากาศอีกด้วย
เป็นที่เชื่อกันว่า ผู้ที่แกะแม่พิมพ์ถวายท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯนั้น น่าจะเป็นฝีมือช่างสิบหมู่หรือฝีมือช่างหลวงนั่นเอง
พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตารามในท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯนั้น เป็นเป็นพระที่สร้างแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามแต่โอกาสและเวลาจะอำนวย หาได้สร้างเป็นครั้งเดียวไม่ ที่เชื่ออย่างนี้เพราะพระแต่ละพิมพ์ของท่าน เนื้อหา ตลอดจนมวลสารนั้นมีอ่อนแก่กว่ากัน ละเอียดบ้าง หยาบบ้าง สีสันวรรณะก็เป็น เช่น เดียวกันทั้งสิ้น เมื่อท่านสร้างพระแต่ละพิมพ์แต่ละคราวเสร็จแล้ว ท่านจะบรรจุลงในบาตร นอกจากท่านจะบริกรรมปลุกเสกด้วยตัวท่านจงดีแล้ว ยังนิมนต์ให้พระเณรปลุกเสกอีกด้วย เมื่อท่านออกไปบิณฑบาตท่านก็จะเอาติดตัวไป ญาติโยมที่ใส่บาตรท่าน ท่านจะแจกพระให้คนละองค์ และมักจะพูดว่า เก็บเอาไว้ให้ดีนะจ๊ะ ต่อไปจะหายาก โดยไม่บรรยายสรรพคุณให้ทราบแต่อย่างใด แต่ก็เป็นที่ทราบกันอยู่ในยุคสมัยนั้นแล้วว่า พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ โด่งดังทางโภคทรัพย์และเมตตามหานิยม

พระสมเด็จพิมพ์ใหญ่ พระสมเด็จพิมพ์ฐานแซม

การสร้างพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม
...เป็นที่ค่อนข้างจะเชื่อได้ว่าเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ท่านสร้างสมเด็จวัดระฆังของท่านไปเรื่อยๆจนท่านอาจจะมีการดูฤกษ์เป็นกรณี พิเศษ แล้วท่านก็สร้างขึ้นมาท่านมีกำหนดว่าจะสร้างกี่องค์ ท่านก็สร้างขึ้นมา แต่มั่นใจว่าท่านไม่ได้สร้างครั้งละมากๆเพื่อแจกไว้นานๆ
...วันไหนที่ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯกำหนดจะสร้างพระ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯก็จะเอาปูนเอาส่วนผสมต่างๆมาตำได้เนื้อพระสมเด็จมา ก้อนหนึ่ง แล้วปั้นเป็นแท่งสี่เหลียม ตัดออกเป็นชิ้นๆ ในสมัยก่อนเรียกว่า ชิ้นฟัก
...แล้วนำเนื้อสมเด็จชิ้นฟักวางลงที่แม่พิมพ์ ซึ่งแกะจากหินชนวนกดเนื้อพระกับแม่พิมพ์ให้แน่นนำเอาไม้แผ่นมาวางทับด้าน หลังของพระสมเด็จวัดระฆัง แล้วใช้ไม้หรือของแข็งเคาะที่ไม้ด้านหลังเพื่อไล่ฟองอากาศและกดให้เนื้อพระ สมเด็จแน่นพิมพ์
...จึงจะเอาไม้แผ่นด้านหลังออกจึงปรากฏรอยกระดานบ้าง รอยกาบหมากบ้างบนด้านหลังขององค์สมเด็จวัดระฆัง กลายเป็นจุดสำคัญและเป็นหัวใจของการดูพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม

...เมื่อ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้กดพระบนพิมพ์เรียบร้อยแล้วท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะตัดขอบพระเป็นรูปสี่เหลี่ยม โดยใช้ตอกตัด ตอกไม้ไผ่ที่ใช้จักสาน
...ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯไม่ใช้มีดเพราะเป็นพระไม่ควรใช้ของมีคม วิธีตัดตอกนั้นตัดจากด้านหลังไปด้านหน้าโดยเข้าใจว่าในแม่พิมพ์พระสมเด็จ ที่เป็นหินชนวนนั้น จะบากเป็นร่องไว้สำหรับนำร่องการตัดตอก
...เพราะพระสมเด็จวัดระฆัง บางองค์ที่ขอบมีเนื้อเกินจะเห็นเส้นนูนของร่องไว้ให้สังเกต การตัดตอกพระสมเด็จวัดระฆัง จากด้านหลังไปด้านหน้าจึงเกิดร่องรอยปรากฏที่ด้านข้างขององค์พระและรอยปริ แตกขององค์พระด้านหลังที่ลู่ไปตามรอยตอกที่ลากลงร่องรอยต่างๆ
...เมื่อผ่านอายุร้อยกว่าปีมาแล้ว การหดตัวขององค์พระสมเด็จฯ การแยกตัวของการปริแตกตามรอยตัด กลายเป็นตำนานการดูพระสมเด็จวัดระฆังที่สำคัญที่สุด
...เมื่อท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯได้กดพิมพ์สร้างพระสมเด็จฯจนหมดเนื้อแล้วก็ คงหยุด คงไม่ได้สร้างครั้งละมากๆ เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต นำมาสร้างพระสมเด็จวัดระฆัง แน่นอนที่สุด อันดับแรก ประกอบด้วยปูนเปลือกหอย คือเอาเปลือกหอยมาเผาเป็นปูนขาว
...ในสมัยก่อนมีปูนเปลือกหอยมาก แต่ปัจจุบันหาไม่ค่อยมีแล้ว อันดับสอง คือส่วนผสมของน้ำมัน ตังอิ๊ว เพราะเคยเห็นมากับตาเวลาพระสมเด็จวัดระฆัง ชำรุดหักจะเห็นเป็นน้ำมัน
ตังอิ๊ว เยิ้มอยู่ข้างในเนื้อพระเป็นจุดๆ
...อันดับที่สาม มีปูนอีกชนิดหนึ่งเขาเรียกว่า ปูนหิน มีน้ำหนักมากไม่ทราบว่าทำมาจากอะไร ท่านผู้อ่านโปรดสังเกตว่าตามโรงงิ้วพวกงิ้วจะเอาแป้งจากปูนหินสีขาวๆมาพอก หน้า เป็นพื้นแล้วจะติดแน่น
...เอาเนื้อสามส่วนนี้เป็นหลักมาผสมกัน ยังมีมวลสารชนิดหนึ่งเป็นเม็ดสีเทาๆมองเหมือนก้อนกรวดสีเทา แต่ไม่ใช่ เพราะเนื้อนิ่มเวลาเอามีดเฉือนจะเฉือนเข้าง่าย จึงไม่ทราบว่าเป็นมวลสารอะไร
...และเคยเจอผ้าแพรสีเหลืองเข้าใจว่าเป็นผ้าแพรที่ถวายพระพุทธรูปแล้วเวลา เก่าหรือชำรุดแทนที่จะนำผ้าแพรที่ห่มพระพุทธรูปมีผู้คนกราบไหว้มากมายไปทิ้ง
...ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต ได้นำผ้าแพรตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เอาดินสอลงอักขระเป็นอักษรไว้ แล้วผสมในมวลสารที่สร้างพระสมเด็จวัดระฆัง
...ชิ้นส่วนที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ก้านธูปบูชาพระ สันนิษฐานว่าท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ คงนำเอาสิ่งของที่บูชาพระทั้งหมดเมื่อกราบไหว้บูชาพระ แล้วก็ไม่ทิ้ง
...นำมาตัดหรือป่นกับเนื้อที่จะสร้างสมเด็จวัดระฆัง จะเห็นเป็นเศษไม้ลักษณะก้านธูปผสมอยู่ในเนื้อพระสมเด็จวัดระฆัง กลายเป็นเอกลักษณ์อันสำคัญยิ่งถ้ามีเศษธูปแล้วต้องเป็นสมเด็จวัดระฆัง
...วัสดุอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือมีเม็ดแดงเหมือนอิฐผสมอยู่ในเนื้อของ พระสมเด็จวัดระฆัง เม็ดแดงนี้ขอยืนยันได้เลยว่า เป็นเศษเนื้อพระซุ้มกอตำให้ละเอียดแล้วผสมไว้กับมวลสารที่จะสร้างพระสมเด็จ วัดระฆัง
...เอกลักษณ์อันสำคัญที่สุดคือเม็ดเล็กๆมีผสมค่อนข้างมาก สีขาวออกเหลือง ซึ่งคนส่วนใหญ่เรียกว่า เม็ดพระธาตุ แต่คงไม่ใช่เม็ดพระธาตุเพราะถ้าเป็นเม็ดพระธาตุคงต้องใช้จำนวนมหาศาล เพราะพระสมเด็จวัดระฆังทุกองค์จะมีเม็ดพระธาตุมาก จะไปเอาพระธาตุมาจากไหนมากมายมหาศาล
...จุดเม็ดพระธาตุนี้กลายเป็นจุดสำคัญของตำนานการดูพระสมเด็จวัดระฆัง ที่สำคัญที่สุด สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นปูนหินสีขาวๆเมื่อผสมกับน้ำมันตังอิ๊วจับตัวเป็นก้อน เมื่อตำผสมกับปูนขาวเปลือกหอยแล้ว ไม่กลืนกันภายหลังแยกกันเป็นเม็ดๆในเนื้อของสมเด็จวัดระฆัง
...แต่บางคนก็สันนิษฐานไปว่าอาจจะเป็นปูนขาวที่ปั้นพระบูชาตามโบสถ์ เสร็จแล้วทารักปิดทองให้พุทธศาสนิกชนกราบไหว้บูชาเป็นร้อยเป็นพันปี
...บางครั้งปูนขาวพองขึ้นชำรุดเสียหาย จึงต้องลอกเอาปูนขาวออกปั้นด้วยปูนขาวใหม่ให้พระสมบูรณ์ เพื่อยืดอายุพระพุทธรูปบูชาในโบสถ์ให้มีอายุนับพันปี
...ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ โต เห็นเป็นวัสดุบูชาที่ไม่ควรจะทิ้ง จึงนำมาตำผสมไว้ในมวลสารของพระสมเด็จวัดระฆัง มาจนถึงปัจจุบันอายุของพระสมเด็จวัดระฆังร้อยกว่าปี การหดตัวของมวลสารเกิดขึ้น
...วัสดุที่ต่างกัน อายุต่างกัน จึงหดตัวไม่เท่ากัน จึงเกิดรอยแยกตัวของรอบๆเม็ดพระธาตุอย่างสม่ำเสมอ เป็นตำนานอันสำคัญที่สุดในการดูพระสมเด็จวัดระฆัง แท้
ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ จะนำดินสอพองมาเขียนเป็นตัวอักขระบนกระดานชนวน เสร็จแล้วก็ลบออก และเขียนอักขระใหม่แล้วก็ลบออกอีก นำเอาผงที่ลบออกมาเก็บเอาไว้ คนรุ่นเก่ารุ่นแก่เรียกว่า ผงอิทธิเจ นำมาผสมในพระสมเด็จวัดระฆัง

ที่มา : http://angsila.cs.buu.ac.th/~it471452/phrathai/page2-5.html

ไม่มีความคิดเห็น: